การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้นั้น จะใช้แนวคิด Design Thinking ในการหาทางแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1. เข้าใจและเข้าถึงการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ (Empathize)
ลงพื้นที่ รวบรวม รับฟัง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ไม่ใช่นั่งแต่อยู่ในห้องแอร์รอรับฟังรายงาน
2. กำหนดปัญหาในแต่ละเรื่อง (Define)
ถ้ากำหนดปัญหาผิด ก็ไม่มีทางที่จะมีทางออกที่ถูกได้ ดังนั้นจึงใช้ทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของพื้นที่ (ระดับเขต) และ ในส่วนของหน้าที่งาน (ระดับสำนัก) และ กำหนดปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเรื่องรวมทั้งกำหนดความเร่งด่วนของแต่ละปัญหา
3. ระดมความคิด หาแนวทางแก้ไข (Ideate)
การแก้ไขปัญหาใน กรุงเทพฯ หลาย ๆ เรื่องต้องใช้การคิดใหม่ ถ้าใช้คนเดิมคิด วิธีการเดิมคิด ก็จะได้คำตอบเดิม ๆ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่มีอยู่ ดังนั้นต้องมีการระดมผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมกันคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาที่มีอยู่ เรามีคนเก่งเยอะ ต้องให้โอกาสคนเก่ง ๆ เหล่านี้มารวมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กรุงเทพฯ
4. ลงมือทำแบบจำลอง (Prototype) และ ทำการทดสอบ (Test)
ปัญหาในกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก แต่หลาย ๆ เรื่องเป็นปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน คล้าย ๆ กันในทุกเขต เช่น ปัญหาทางเท้า ปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาขยะ เราสามารถทดลองการปัญหาด้วยการลงมือและทดสอบในบางจุดก่อน ถ้าสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งทางทีมงานของเราได้ลงมือทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว มีการกำหนดปัญหา ทางแก้ เริ่มทำและทดสอบแบบจำลองในหลายโครงการแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลา เราสามารถนำสิ่งที่ได้เตรียมไว้มาลงมือทำได้อย่างทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวอีก
ความสำเร็จที่สำคัญของการดำเนินการตามแนวทางนี้คือการมีทีมงานที่ความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน และ มีความรู้จักพื้นที่ ดังนั้นเราจึงขอรับอาสาสมัครเพื่อจะมาร่วมกันเป็นทีมงานในการร่วมกันทำกรุงเทพฯ ของเราให้ดีขึ้น