นโยบาย chevron_right

หลักสูตรการเรียนรวม คือการศึกษาสำหรับทุกคน

คนกรุงเทพฯ ได้อะไร

  - เด็กกรุงเทพฯ ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนแต่ละบุคคลอย่างมีคุณภาพ

  - เด็กกรุงเทพฯ ในโครงการจัดการศึกษาพิเศษได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตไปจนถึงการพัฒนาสู่การประกอบอาชีพในอนาคต

  - เด็กกรุงเทพฯ ทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กพิการได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

รายละเอียด

จากสถิติคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการล่าสุด (ธันวาคม 2564) ในทั้งประเทศมีประชากรปฐมวัย วัยเรียน และวัยรุ่นที่มีความพิการมากกว่า 98,000 คน [1]  ซึ่งถือประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่สำคัญกลุ่มหนึ่งของประเทศและกรุงเทพฯ ที่ต้องได้รับดูแล การศึกษาเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้

โดยในปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนในสังกัดกทม. ทั้งหมด 155 โรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษเรียนร่วม (Mainstreaming Integration) หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องหรือพิการด้านสติปัญญา การเรียนรู้ ด้านการมองเห็น การได้ยิน การพูด-ภาษา ร่างกาย-สุขภาพ อารมณ์พฤติกรรม ภาวะออทิสติก และพิการซ้ำซ้อน ซึ่งกทม.จัดให้มีครูการศึกษาพิเศษดูแล แต่ในกรณีที่ไม่สามารถเรียนรวมกับชั้นปกติได้จะส่งต่อไปยังสถานศึกษาเฉพาะ ใน 155 โรงเรียนสังกัดกทม. จากทั้งหมด 437 โรงเรียน (ปีการศึกษา 2564) รับเฉพาะชั้นอนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 102 โรงเรียน รับในช่วงอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 50 โรงเรียน และรับตั้งแต่อนุบาล 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 โรงเรียน 

แต่การเรียนร่วม (Mainstreaming Integration) เป็นการให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับนักเรียนในชั้นปกติในระบบการศึกษาทั่วไป ซึ่งในบางครั้งที่นักเรียนขาดความพร้อมอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากเด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างตรงจุด เช่น ถูกบังคับให้เรียนตามหลักสูตรพื้นฐานซึ่งเกินศักยภาพ หรือไม่ได้รับการดูแลโดยเฉพาะเพื่อแก้ไขทักษะที่บกพร่อง ทำให้พัฒนาการแย่ลง มีปัญหาความบกพร่องมากขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น หรือเผชิญปัญหาถูกกลั่นแกล้ง เพื่อนไม่ยอมรับ เพราะเพื่อนร่วมชั้นไม่เข้าใจความแตกต่าง 

 

ดังนั้นกทม.พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการพิเศษของเด็กนักเรียน หรือที่เรียกว่าการเรียนรวม (Inclusion) ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการพัฒนาทักษะเพื่อให้นักเรียนสามารถประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ โดยตัวโครงการจะมีการคัดกรองและประเมินศักยภาพของเด็กผ่านแบบประเมินที่จัดทำโดยแพทย์และนักจิตวิทยา (จำแนกเป็นอย่างน้อย 8 ประเภทความพิการตามกระทรวง พม.) เพื่อพิจารณาความพร้อมตามลักษณะ ความรุนแรงของความบกพร่อง และจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน (IEP - Individualized Education Program) 

ไม่เพียงแค่การพัฒนาหลักสูตรและการดูแลนักเรียนที่สอดคล้องกับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้น กทม.จะ

  - เพิ่มทรัพยากร เพิ่มบุคลากรในโครงการจัดการศึกษาพิเศษ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูล่าม เป็นต้น

  - เพิ่มองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการดูแลเด็กพิเศษให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 

  - สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกแปลกแยก 

  - ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงการยอมรับความช่วยเหลือและการรักษาที่ถูกต้อง

  - สนับสนุนเครือข่ายของผู้ปกครองเด็กพิการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความช่วยเหลือ และประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตร 

นอกเหนือจากบทบาทของการเรียนในโรงเรียนแล้ว กทม.จะนำร่องประสานกับโรงพยาบาล สังกัด กทม.ในแต่ละกลุ่มเขตเพื่อเชื่อมต่อการทำงานให้ครบวงจร โดยเมื่อเด็กเข้ารับการรักษา ในช่วงปฐมวัยก่อนเข้าโรงเรียนในโรงพยาบาลสังกัดกทม. ทางโรงพยาบาลจะประสานกับโรงเรียนของโครงการฯ เพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และดำเนินการรักษาต่อเนื่องควบคู่กับการเรียนรู้ ให้เป็นความร่วมมือระหว่างบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน

 

*อัพเดตล่าสุด วันที่ 19 เมษายน 2565

หากมีข้อเสนอแนะ (คลิก)