- ลดสถิติการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลง
สถิติปี 2564 ประเทศไทยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 658 คน เฉลี่ย 2 คนต่อวัน การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี [1]
อดีตคนกรุงเทพฯ ผูกพันกับแม่น้ำลำคลองโดยเป็นทั้งแหล่งอุปโภค บริโภค และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้คนกรุงเทพฯ ในอดีตส่วนใหญ่มีทักษะว่ายน้ำหรือเอาตัวรอดในน้ำได้ การเปลี่ยนแปลงเมืองและคุณภาพน้ำทำให้สายน้ำและวิถีชีวิตของประชาชนห่างเหินกันยิ่งขึ้น ประชาชนกรุงเทพฯ รวมทั้งเยาวชนจึงไม่ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะเอาตัวรอดทางน้ำได้ง่ายเหมือนในอดีต ด้านการเข้าถึงสระว่ายน้ำก็มีต้นทุนสูงและยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร โดย
กทม.มีสระว่ายน้ำในการดูแลทั้งหมด 27 สระ แบ่งเป็น 7 สระที่ศูนย์กีฬา กทม. 19 สระที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัย และ 1 สระที่ศูนย์เยาวชน กทม. โดย กทม.มีการจัดการเรียนการสอนว่ายอยู่เป็นประจำทั้งภาคปกติและภาคฤดูร้อน ซึ่งมักเปิดสอนภาคปกติช่วงเย็นของทุกวันสำหรับเด็ก และสำหรับผู้ใหญ่ช่วงบ่าย [2]
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนกทม.มีทักษะเอาตัวรอดในน้ำมากขึ้น กทม.จะส่งเสริมและสนับสนุน ดังนี้
1. จัดให้วิชาว่ายน้ำเป็นหลักสูตรพื้นฐานของโรงเรียนสังกัด กทม.ทุกโรงเรียน โดยให้โรงเรียนที่ไม่มีสระว่ายน้ำจัดการเรียนการสอนว่ายน้ำโดยอาศัยสระและครูของศูนย์กีฬาหรือศูนย์สร้างสุขทุกข์วัย ในช่วงเช้า และเสริมการสอนทักษะการเอาตัวรอดในน้ำให้เด็กใน กทม.ทุกคนเข้าถึงการเรียนว่ายน้ำและว่ายน้ำเป็น โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 15 ปี ที่ทั้งกรุงเทพฯ มี 788,864 คน [3]
2. พิจารณาเพิ่มสระว่ายน้ำใน ศูนย์สร้างสุขทุกวัยใหม่ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ให้สระว่ายน้ำและการสอนว่ายน้ำของ กทม.กระจายตัวทั่วกรุง ประชาชนเข้าถึงการว่ายน้ำได้ง่ายและมากขึ้น
อัพเดตล่าสุดวันที่ 20 เมษายน 2565